มาทำความรู้จักกับแมลงวัน
แมลงวันที่พบมากในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 สายพันธ์ ดังนี้
1. แมลงวันบ้าน
เป็นพาหะนำเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคหลายชนิด ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย ลำตัวของแมลงวันชนิดนี้ไม่มีสีสะท้อนแสง มีสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม พบได้ในทุกจังหวัดของประเทศไทย พบมากในช่วงฤดูร้อน ในคอกสัตว์ที่มีอาหารตกหล่น หรือบริเวณกองอุจาระสัตว์ใกล้คอกจะพบแมลงวันจำนวนมาก วงจรชีวิตมี 4 ระยะคือ
- ระยะไข่ แมลงวันบ้านจะวางไข่บนมูลสัตว์ สิ่งปฎิกูลที่มีความชื้นสูง ไข่มีรูปร่างค่อนข้างเรียวยาวคล้ายกล้วยหอม มีขนาดเล็กยาวประมาณ 1.0 - 1.2 มิลลิเมตร สีขาวขุ่นหรือสีครีม ระยะไข่ต้องการความชื้นประมาณ 90% ระยะเวลาการเจริญจากไข่เป็นตัวหนอนขึ้นอยู่กับอาหารและอุณหภูมิ ไข่จะฟักภายใน 6 - 12 ชั่วโมง
- ระยะตัวหนอน ระยะนี้มี 3 ระยะ ลำตัวประกอบด้วยปล้อง 12 ปล้อง มีการลอกคราบ 2 ครั้ง โดยระยะที่ 1 มีขนาดความยาวประมาณ 3 - 5 มิลลิเมตร และระยะที่ 3 ยาวประมาณ 5 - 13 มิลลิเมตร ตัวหนอนมีลักษณะทรงกลมยาวคล้ายเม็ดข้าวสาร หัวค่อนข้างแบน ส่วนท้ายจะกลม ไม่มีระยางค์ ตัวหนอนระยะที่ 1- 3 จะมีลำตัวค่อนข้างใส ก่อนที่จะเข้า ระยะดักแด้ จะมีสีขาวหรือสีเหลืองเล็กน้อย
- ระยะดักแด้ จะมีขนาด 6 - 8 มิลลิเมตร ลักษณะคล้ายถังเบียร์ ใช้เวลาในระยะดักแด้ประมาณ 14 - 28 วัน
- ระยะตัวเต็มวัย
แหล่งเพาะพันธ์: ได้แก่ มูลสัตว์ เศษอาหารและสิ่งปฎิกูลจากกรรมวิธีผลิตอาหาร อินทรียวัตถุ ได้แก่ ปลาป่น กระดูกป่น ท่อระบายน้ำโสโครกจากบ่อบำบัดน้ำเสีย
แหล่งเกาะพัก: แหล่งเกาะพักในเวลากลางวัน ถ้าแหล่งอาหารไม่สมบูรณ์ แมลงวันบ้านจะเกาะพักบนพื้น ผนัง เพดานห้อง ส่วนนอกบ้านจะเป็นรั้วบันได ขยะ กอหญ้า และวัชพืช แต่โดยทั่วไปมักจะเกาะพักอยู่ใกล้กับแหล่งอาหาร เช่น บริเวณแหล่งกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ส่วนการเกาะพักในเวลากลางคืน ได้แก่ เพดาน ถ้าอุณหภูมิสูงจะเกาะบริเวณรั้ว ราวตากผ้า สายไฟฟ้า เชือก วัชพืช กอหญ้า ซึ่งเป็นแหล่งเดียวกับเวลากลางวัน
2. แมลงวันหัวเขียว
เป็นแมลงวันที่มีขนาดใหญ่กว่าแมลงวันบ้าน ลำตัวใหญ่ประมาณ 8 - 12 มิลลิเมตร ลำตัวมันวาวสีน้ำเงินเขียว
ไข่แมลงวันหัวเขียวจะฟักเป็นตัวหนอนภายในระยะเวลา 9 - 10 ชม ที่อุณหภูมิ 24 - 28 องศา และสามารถวางไข่ได้ประมาณ 254 ฟอง ตัวหนอนจะเจริญได้ดี ในอาหารเหลว อาหารที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในการเพาะเลี้ยงตัวหนอนของแมลงวันชนิดนี้ คือ อุจจาระเหลว ตัวหนอนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มบริเวณส่วนบนของอาหาร เนื่องจากต้องการ อากาศสำหรับหายใจ ตัวหนอนของแมลงวันชนิดนี้พบมากในมูลของสัตว์ที่กินเนื้อ ส่วนมูลของสัตว์ที่กินพืชจะพบน้อยกว่า เช่น ม้า โค กระบือ เมื่อตัวหนอนเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว มันจะหาบริเวณที่แห้งเพื่อเข้าสู่ระยะดักแด้ และจะเข้าสู่ระยะเต็มวัย
พฤติกรรมการกินอาหาร: จะพบแพร่กระจายทั่วไปตามแหล่งอาหารและแหล่งเพาะพันธุ์ที่มีความชื้นสูงกว่าแมลงวันบ้าน ความยาวของอายุขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความชื้น ตัวเต็มวัยที่ออกจากดักแด้ 8 - 9 วัน จะเริ่มวางไข่ในช่วงเวลาบ่ายมากกว่าช่วงเวลาอื่น
3. แมลงวันหลังลาย
เป็นแมลงวันที่พบกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศไทย แต่มีความหนาแน่นต่ำ มีขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่กว่าแมลงวันบ้านและแมลงวันหัวเขียว ลำตัวมีสีเทาเข้มหรือสีเทาอ่อน สาเหตุที่เรียกแมลงวันหลังลาย เนื่องจากปล้องด้านบนมีลายคล้ายตารางหมากรุก มีรายงานการศึกษาจากห้องเลี้ยงแมลงด้วยอาหารผสมและเนื้อวัวสดแช่น้ำทีอุณหภุมิ 27 - / + 4 องศา พบว่าใน 1 วัน แมลงวันหลายชนิดจะวางไข่ 1 ครั้ง หรือไม่วางไข่เลย จำนวนไข่ในแต่ละครั้ง 3 - 36 ฟอง และบางครั้งออกลูกเป็นตัว จำนวน 3 - 11 ตัวต่อครั้ง อุณหภูมิจะมีผลต่อน้ำหนักของแมลงวัน พบว่าถ้าอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป จะทำให้น้ำหนักของดักแด้ และตัวเต็มวัยน้อยลง และที่อุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไปจะทำให้แมลงวันชนิดนี้ตายมากขึ้น ส่วนอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเติบโตคือ 22 - 28 องศา
พฤติกรรมการกินอาหาร: แมลงวันหลังลายแต่ละชนิดจะกินอาหารแตกต่างกันไป บางชนิดชองกินตามมูลสัตว์ และซากสัตว์เน่าเปื่อย หรือระยะที่มีอาหารเน่าเปื่อย บางชนิดขอบกินเนื้อสัตว์ บางชนิดชอบอาหารที่มีรสหวาน และบางชนิดชอบอาหารทะเลหรือผลไม้ตากแห้ง
หลักการควบคุมป้องกันและกำจัดแมลงวัน
1. ควบคุมโดยวิธีการสุขวิทยาและสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม
1.1 ลดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน โดย กำจัดขยะมูลฝอย ฝังกลบหรือเผา อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และควรปิดฝาขยะมิดชิดทุกครั้ง
1.2 อบรมผู้ประกอบการอาหารในบริเวณร้านขายอาหาร ถึงการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณแมลงวันในบริเวณดังกล่าว
2. ควบคุมโดยใช้สารเคมี
2.1 ใช้สารเคมีควบคุมหนอนแมลงวันในแหล่งเพาะพันธุ์ โดยการฉีดน้ำยาเคมีในบริเวณที่คาดว่าจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ เช่น บริเวณกองขยะ โดยการฉีดพ่นทุกเดือน
2.2 พ่นสารเคมีตามแหล่งเกาะพัก
2.3 การใช้เหยื่อพิษ โดยการโรยเหยื่อพิษตามแหล่งระบาด หรือมีแมลงวันชุกชุม
2.4 การพ่นสารเคมีแบบฟุ้งกระจาย โดยการใช้เครื่องหมอกควัน
3. ควบคุมโดยวิธีกล
3.1 ใช้มุ้งลวดหรือม่านพลาสติกเหลือง เพื่อป้องกันและลดความหนาแน่นของแมลง เพื่อให้เข้ามาในพื้นที่น้อยที่สุด
3.2 ใช้ไม้ตีแมลงวัน
3.3 การใช้เครื่องไฟดักแมลง